ความเป็นมามะพร้าว

มะพร้าว

คนไทยคุ้นเคยกับมะพร้าวมาเป็นเวลานาน และใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของมะพร้าว เช่น ผลอ่อนใช้รับประทานสด (น้ำและเนื้อ) เนื้อมะพร้าวจากผลแก่นำไปปรุงอาหารและขนมหลายชนิด และใช้สกัดน้ำมัน กากที่เหลือใช้เลี้ยงสัตว์ น้ำมันมะพร้าวใช้ประกอบอาหาร เนยเทียม และสบู่ เปลือกมะพร้าวนำไปแยกเอาเส้นใยใช้ทำเชือก วัสดุทำเบาะและที่นอน ขุยมะพร้าวใช้ทำวัสดุเพาะชำต้นไม้ กะลาใช้ทำภาชนะ ตักตวงของเหลว (กระจ่า กระบวย ฯลฯ) ทำกระดุม เครื่องประดับ เครื่องดนตรี (ซออู้) ทำเชื้อเพลิง และถ่านกัมมันต์ (มีคุณสมบัติในการดูดซับสูง) ใบมะพร้าวทั้งอ่อนและแก่ ตลอดจนก้านใบใช้มุงหลังคา เครื่องจักสาน ไม้กวาดทางมะพร้าว ใช้ทำรั้ว และเชื้อเพลิง ลำต้นแก่ใช้ในการก่อสร้างประดิษฐ์เครื่องเรือน ยอดอ่อนใช้เป็นอาหาร จั่น (ช่อดอก) มีน้ำหวาน รองมาดื่มเป็นน้ำผลไม้ หรือทำน้ำตาล หมักทำเหล้าและน้ำส้ม รากใช้ทำยา สีย้อมผ้า และเชื้อเพลิง แต่อย่างไรก็ตามการปลูกมะพร้าวโดยทั่วไป ก็เพื่อนำเอาเนื้อมะพร้าวไปประกอบอาหาร และสกัดเอาน้ำมันเช่นเดียวกับปาล์ม

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดระบุถึงถิ่นกำเนิดของมะพร้าว แต่ยอมรับกันว่า อยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย หรือหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ต่อมา จึงแพร่กระจายออกไปทั่วทุกภูมิภาคในเขตร้อน และกึ่งร้อน โดยอาจจะกระจาย (ลอยน้ำ) ไปเอง และคนนำเอาไปปลูก มะพร้าวอยู่ในวงศ์ปาล์ม (Family Palmaceae) มะพร้าวที่ใช้บริโภคมีชื่อ ทางวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera (Linn.)

มีการปลูกมะพร้าวในทุกภาคทั่วประเทศไทย แต่สวนขนาดใหญ่อยู่ในภาคใต้ และจังหวัดชายทะเลรอบอ่าวไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ มีพื้นที่ปลูก มะพร้าวประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ ได้ผลิตผล ๑,๓๐๐,๐๐๐ ตัน คิดเป็นมูลค่าที่เกษตรกรได้รับ ๒,๗๐๐ ล้านบาท ใช้บริโภคในรูปต่างๆ ประมาณ ๙๐๐,๐๐๐ ตัน ใช้สกัดน้ำมัน ๔๐๐,๐๐๐ ตัน และส่งเป็นสินค้าออก ๓,๐๐๐ ตัน เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด ขยายออกไปอีกไม่ได้ ดังนั้น จึงมุ่งในทางเพิ่มผลิตผลต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น โดยเปลี่ยนสวนมะพร้าวเก่าที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองมีอายุมาก และให้ผลิตผลต่ำ เป็นสวนปลูกใหม่ ใช้พันธุ์มะพร้าวลูกผสมที่ให้ผลิตผลสูง และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยปลูกพืชแซม เช่น โกโก้ พริกไทย สมุนไพร หรือเลี้ยงสัตว์ เช่น โคเนื้อ หรือโคนม ในสวนมะพร้าว

มะพร้าวเป็นพืชปลูกกันมาเป็นเวลานาน ทั่วเขตร้อนของโลก จึงมีความแตกต่างกันในรูปทรง และลักษณะอื่นๆ อย่างหลากหลาย มีนักพฤกษศาสตร์หลายท่าน พยายามจำแนกพันธุ์มะพร้าวที่ปลูกกันออกเป็นหมวดหมู่ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป การจำแนกพันธุ์มะพร้าวในประเทศไทย อาศัยทั้งความสูง และอายุการตกผล

การแบ่งพันธุ์มะพร้าวโดยอาศัยความสูง ออกเป็น ๒ พันธุ์ คือ

๑. ต้นเตี้ย

แยกออกตามสีของผล ได้แก่ หมูสีเขียว หมูสีเหลือง นกคุ่ม น้ำหอม มะพร้าวไฟ นาฬิเก เป็นต้น

๒. ต้นสูง

ได้แก่ พันธุ์มะพร้าวใหญ่ มะพร้าวกลาง ร้อยทะลาย ปากจก (ผลยาว) กะโหลก (ใหญ่พิเศษ) เปลือกหวาน และ มะแพร้ว เป็นต้น

ส่วนการจำแนกโดยอาศัยอายุการติดผล แบ่งออกเป็น ๓ พันธุ์ คือ

๑. มะพร้าวพันธุ์เบา
 โดยออกผลหลัง จากปลูกได้ ๓ – ๔ ปี
๒. มะพร้าวกลาง
 ออกผลหลังจากปลูกได้ ๕ – ๖ ปี
๓. มะพร้าวหนัก
 ออกผลหลังจากปลูกได้ ๗ – ๘ ปี

มะพร้าวแต่ละประเภท ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องขนาดและทรงต้น จำนวน และลักษณะของใบ ขนาดรูปร่าง และสีของผล ในระยะหลังมีการนำเชื้อพันธุ์มะพร้าวจากทวีปแอฟริกา อเมริกากลาง และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ามา เพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้การจำแนกประเภทและพันธุ์มะพร้าวยุ่งยากยิ่งขึ้น

กรมวิชาการเกษตรแนะนำพันธุ์มะพร้าวอยู่ ๒ พันธุ์ คือ พันธุ์ลูกผสมสวี 1 และพันธุ์ ลูกผสมสวี 2

มะพร้าวเจริญเติบโต และติดผลได้ดี ในแหล่งที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า ๑,๕๐๐ มิลลิเมตร และตกอย่างสม่ำเสมอตลอดปี ถ้ามีช่วงฝนแล้งนานกว่า ๓ เดือน การออกดอก และติดผล ลดต่ำลง มะพร้าวชอบดินร่วนปนทราย หรือดินตะกอนตามบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง และอุ้มน้ำได้ดี ในที่ลุ่มซึ่งมีน้ำท่วมขังควรจะยกแปลงปลูกให้สูงพ้นระดับน้ำ สำหรับดินดอน ต้องมีหน้าดินลึกกว่า ๑ เมตร

การเตรียมพื้นที่ขนาดใหญ่ ควรปรับหน้าดินให้เรียบ มีการตัดแบ่งแปลง และทำถนนภายในสวน พื้นที่ที่ลาดชันมาก ควรปรับเป็นขั้นบันได และปลูกพืชคลุมดิน ป้องกันการชะล้าง และพังทะลายของดิน จัดเตรียมหลุมปลูกไว้ล่วงหน้า โดยวางแนวเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยมด้านเท่า สำหรับมะพร้าวเล็ก ระยะระหว่างต้นห่างกัน ๖ – ๗ เมตร (ในหนึ่งไร่จะปลูกได้ ๓๗ – ๕๑ ต้น) ส่วนมะพร้าวใหญ่ขยายระยะระหว่างต้นเป็น ๘ – ๙ เมตร (ในหนึ่งไร่ปลูกได้ ๒๒ – ๒๕ ต้น) ขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง ๑ x ยาว ๑ x ลึก ๑ เมตร นำเศษพืช ปุ๋ยคอก และหินฟอสเฟต (อัตราหลุมละครึ่งกิโลกรัม) คลุกดินรองก้นหลุม

ควรเพาะผลมะพร้าวให้งอกไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา ๘ เดือน – ๑ ปี (มีใบ ๓ – ๔ ใบ) และควรเริ่มปลูกในต้นหรือกลางฤดูฝน สำหรับที่ดอน ให้ขุดหลุมวางหน่อมะพร้าวให้เสมอหรือต่ำกว่าระดับดิน แต่ในที่ลุ่มให้วางหน่อมะพร้าวเสมอหรือสูงกว่าระดับดิน จัดหน่อให้หันไปในทิศทางเดียวกัน ระยะแรกอาจใช้น้ำช่วย เมื่อมีช่วงฝนแล้งนาน ไถพรวนหน้าดินในระหว่างต้นมะพร้าวเป็นครั้งคราว เพื่อป้องกัน กำจัดวัชพืช และไฟป่า ปลูกพืชคลุมหน้าดิน ออกสำรวจการระบาดทำลายของโรคและแมลงศัตรูมะพร้าว และป้องกัน กำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

ต้นมะพร้าวจะเติบโตขยายตัวทางด้านข้าง ในระยะ ๓ ปีแรก หลังจากนั้นลำต้นจะยืดตัวทางด้านสูง เริ่มออกดอกติดจั่น และติดผล (ตามอายุของพันธุ์) ติดต่อกันไปเป็นเวลานานถึง ๘๐ – ๑๐๐ ปี

การเจริญเติบโตของต้นมะพร้าว และผลิตผลขึ้นอยู่กับความชุ่มชื้น และความอุดมสมบูรณ์ของดิน เมื่อมะพร้าวติดผลแล้วควรให้ปุ๋ยเกรด 13-13-21 หรือ 12-12-17-2 (แมกนีเซียม) ในจำนวนตามคำแนะนำ โดยทั่วไปมะพร้าวจะแตกใบใหม่ออก มาปีละ ๑๒ – ๑๕ ใบ และที่มุมใบจะมีช่อดอกหรือจั่นแทงออกมา โดยเฉลี่ยแล้วมะพร้าวให้ผล ๕๐๐ – ๘๐๐ ผล/ไร่/ปี แต่ถ้ามีการบำรุงรักษาที่ ดีอาจให้ผลสูง ๘๐๐-๑,๐๐๐ ผล/ไร่/ปี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *